วันที่ 21 ธันวาคม 2551 เวลา 08:02 น. จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
จากกรณี “เด็กติดเกม” ที่กำลังเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดย “เดลินิวส์” ได้นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางฝ่ายสมาคมผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตได้เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการจัดตั้ง “เซิร์ฟเวอร์กลาง” เพื่อคุมการเล่นเกมออนไลน์และการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กไทย โดยต้องมีการ “ล็อกอิน” ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อที่จะเป็นการจัดระเบียบ ขณะที่บางฝ่ายก็ มองว่าวิธีนี้จะช่วย “บล็อก” ไม่ให้เด็กเล่นเกมและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่เหมาะสมได้ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายปรีชา ไพรภัทรกุล อนุกรรมาธิการด้านเทคโนโลยี ในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการบล็อกการล็อกอินของเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี เพื่อที่จะสกรีน และตรวจสอบบุคคลที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตจากเลขที่บัตรประชาชน ซึ่งในประเทศไทยก็เคยมีข่าวว่า มีความพยายามที่จะทำแบบนี้ด้วยการให้เด็ก ไปกรอกแบบฟอร์มเพื่อรับพาสเวิร์ดที่ที่ทำการ ไปรษณีย์เพื่อใช้ในการล็อกอิน แต่ภายหลังไม่ทราบว่าผลเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม ถึงจะให้เด็กต้องล็อกอินด้วยเลขที่บัตรประชาชน เด็กก็อาจจะแอบใช้เลขบัตรของผู้ปกครองได้
นายปรีชา กล่าวต่อว่า นอกจากเกมออน ไลน์ที่เล่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ในต่างประเทศมีระบบควบคุมแล้ว สำหรับเกมออฟไลน์ในต่างประเทศก็ค่อนข้างควบคุมการซื้อขายมาก มีการรณรงค์และกำหนดเรื่องเรตติ้ง และผู้ประกอบ การก็ให้ความร่วมมือ ส่วนต้นตำรับการสกรีนด้วยเลขที่บัตรประชาชนนั้นคือเกาหลีใต้
“สำหรับประเทศไทย เท่าที่ทราบมีสิ่งที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการอยู่คือ การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง, รณรงค์เรื่องเรตติ้ง ซึ่งจะปรากฏในงานไทยแลนด์เกมโชว์ 2009 ในต้นปีหน้า และความพยายามในการเชื่อมระบบฐานข้อมูล ที่จะต้องดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะตรวจสอบได้ ซึ่งที่ผ่านมาการจะทำก็ค่อนข้างยาก เพราะระบบ ทะเบียนราษฎรของไทยเรายังไม่พร้อม”
ด้าน ดร.พิจิตรพงศ์ สมุทรพิพิธ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็นเดียวกันนี้ว่า ในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ประเทศในยุโรปที่ส่งออกเกมเป็นอุตสาหกรรม สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ จะค่อนข้างจริงจังกับการสกรีนคนที่จะเข้าไปในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือการโหวตต่าง ๆ โดยบางประเทศจะแบ่งคนเป็น 2 กลุ่มคือ อายุ 18 ปีขึ้นไป และอายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งกลุ่มหลังนี้ไม่ว่าจะโหวตหรือเล่นเกมออนไลน์หากลงทะเบียนล็อกอินเข้าไปด้วยเลขบัตรประชาชน ระบบก็จะบล็อกอัตโนมัติทันที
ดร.พิจิตรพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ประเทศเกาหลีใต้นั้นจะเข้มงวดและจริงจังกับสังคมออน ไลน์มาก มีตำรวจไซเบอร์ดูแลโดยเฉพาะเลย และมีการหลอกถามเด็กเพื่อทดสอบวุฒิภาวะ เพื่อกันเด็กโกหก “กรณีประเทศไทยก็น่าจะจริงจังให้มาก ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ ให้ความสำคัญ ให้ความร่วมมือ และเจ้าหน้าที่ด้านไอทีซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ ก็ต้องพยายามเรียนรู้ไปด้วย เพราะทุกวันนี้การ แก้ปัญหายังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อมี นโยบายออกมาก็ต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่ตื่นตูมเป็นพัก ๆ แล้วก็เงียบหายไป”
ส่วน น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ความพยายามของกระทรวงวัฒนธรรมในการเฝ้าระวังสื่อต่าง ๆ ได้มีออกมาในรูปแบบของคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเลขานุการ อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ฟอร์มทีมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และน่าจะเป็นเรื่องเป็นราวได้ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีภารกิจ 5 อย่างคือ ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี มีภูมิกัน พัฒนากฎหมาย และมีศูนย์ปฏิบัติการ
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวความคิดเรื่องการตั้งเซิร์ฟเวอร์กลาง และการลงทะเบียนเลขบัตรประชาชน 13 หลักเหมือนที่ต่างประเทศทำ เพื่อควบคุมการใช้ อินเทอร์เน็ตและการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กนั้น มีมาตั้งแต่สมัยช่วงต้น ๆ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายที่กระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบ คือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เป็นกฎหมายใหม่ ซึ่งกำลังทยอยออกกฎหมายลูกอีกมาก แต่แนวคิดเกี่ยวกับการใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ปัจจุบันยังไปไม่ถึง ซึ่งถ้าจะทำจริง ๆ ก็ต้องร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ดูแลทะเบียนราษฎรอยู่
“และอยากจะฝากบอกว่าการสัมมนาทุกครั้งมีประโยชน์ ไม่ใช่อย่างที่ผู้ประกอบการกล่าวว่าไร้ประโยชน์ สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเป็นการตกตะกอนทางความคิดของนักการศึกษา และนักจิตวิทยา ซึ่งการตกตะกอนทางความคิดจากการสัมมนาหลาย ๆ ครั้ง ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นรูปธรรมคือ เกมสีขาว ที่เป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)”.