จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
นายพงศกร อรรณนพพร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างแผนแม่แบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งจะให้มีการจัดตั้งกองทุนปิด 7 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยระดมทุนทุกภาคส่วนที่สนใจร่วมลงทุนกับกองทุนที่มีความมั่นคง และมีผลตอบแทนที่สูง เพื่อใช้แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับครู คล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ของธนาคารกรุงไทย ส่วนดอกเบี้ยจะมีการหารืออีกครั้ง ทั้งนี้จะมีกระทรวงการคลังเข้ามาซื้อกองทุนในอัตราร้อยละ 40 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ เช่น สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชนอื่นๆ ที่ต้องการร่วมลงทุน คาดว่าอีก 1 เดือน จะมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ จากนั้นจะเปิดให้ข้าราชการครูที่ได้รับความเดือดร้อนสมัครเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นมีข้าราชการครูที่มีหนี้อยู่ประมาณ 140,000 ราย อย่างไรก็ตาม จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการก่อหนี้สินใหม่ โดยจะมีคณะทำงานในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกันกำหนดระเบียบ นอกจากนี้ตนได้เสนอห้ามไม่ให้ผู้บังคับบัญชาของครูเซ็นค้ำประกันหนี้ใหม่ หากฝ่าฝืนผู้บังคับบัญชาจะต้องร่วมรับผิดชอบ และมีโทษทางวินัยด้วย
“ทางกองทุนจะเข้าไปเจรจาขอรีไฟแนนซ์หนี้เก่าของครู เพื่อนำมาบริหารจัดการใหม่ ทำให้ครูสามารถมาผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะยาว ซึ่งในส่วนของเจ้าหนี้เดิมก็ไม่ต้องเจอกับปัญหาหนี้เสีย (NPL) หากมีครูสนใจร่วมกองทุนเกินกว่าวงเงิน 10,000 ล้านบาท ก็จะระดมทุนเปิดกองทุนที่ 2 ต่อไป มั่นใจว่าสามารถระดมเงินเข้าสู่กองทุนได้ถึง 200,000 ล้านบาท จึงไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเงินไปใช้หนี้ให้กับครู” นายพงศกรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพงศกรได้ปรามในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากบางพื้นที่ถึงการสอบบรรจุครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ เรียกเก็บเงินผู้ที่ต้องการเป็นครูถึงหัวละ 200,000 บาท ทำให้ครูมีหนี้สินตั้งแต่เริ่มชีวิตการเป็นครู.